วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนเเปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475


ก่อนการปฏิวัติ"คณะราษฎร"ได้มีการประชุมเพื่อวางแผนกันหลายครั้ง หากว่ามีความเสี่ยงสูงก็ต้องยอม ยกเลิกแผนการนั้นไปก่อน จนกระทั่งถึงครั้งที่เห็นชอบกันว่ามีความพร้อมมากที่สุด นั้นคือ จะทำการปฏิวัติใน เช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพราะในวันนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราช ฐานประทับที่พระราชวังไกลกังวล จึงทำให้ในกรุงเทพฯ เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

การปฏิวัติครั้งสำคัญครั้งนี้ ได้ทำการประชุมวางแผนกัน ณ บ้านของ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่12 มิถุนายน 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่มออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ

หน่วยที่ 1 เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 06.00 น.ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น โทรศัพท์ โทรเลข รวมทั้งคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดสามารถแล่นเข้ามาได้

หน่วยที่ 2 เริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00 น. ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ รวมทั้งวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อมไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์

หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที

สุดท้าย หน่วยที่ 4 อันถือว่าเป็น " มันสมอง " โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเตรียมการเจรจากับต่างประเทศหลังการปฏิบัติการสำเร็จ

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร โดยพระยาทรงสุรเดช อาศัยความเป็นอาจารย์ใหญ่ที่สอนนักเรียนที่โรงเรียนนายร้อย ใช้กลลวงนำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง

แผนการในครั้งนี้สำเร็จลง เป็นไปอย่างรวดเร็วไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ด้วยการวางแผนที่แยบยล ตั้งแต่การจับตัวประกัน การตัดการสื่อสาร และที่สำคัญการลวงทหาร ดังที่พระยาทรงสุรเดชได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ชัดเจนว่า "เป็นเพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่"


ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่ต้องการให้เสียเลือดเนื้อ และบ้านเมืองต้องได้รับความเสียหาย อีกทั้งพระองค์เองก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หลังยึดอำนาจสำเร็จ วันที่ 26 มิถุนายน 2475 ผู้แทนคณะราษฏรได้เดินทางเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ณ วังศุโขทัย นำเอกสารสำคัญขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองประเทศ โดยทรงเพิ่มคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายธรรมนูญการปกครองฯ ในวันที่ 27 มิถุนายน

สภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกตามธรรมนูญการปกครองฯ มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี คนแรกของประเทศไทยและมีนายปรีดี เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของสภาผู้แทนราษฎร และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ภายใต้การนำของคณะราษฎร เป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยซึ่งเดิมเป็นของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้มาเป็นของประชาชน และยกกษัตริย์ขึ้นเป็นประมุขของประเทศ โดยไม่มี พระราชอำนาจในทางการบริหารบ้านเมืองอย่างแท้จริง หากเป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ การกระทำของกษัตริย์ในทางการเมืองต้องมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการเสมอ นั่นคือ ผู้ลงนามสนองฯเป็นผู้กระทำและรับผิดชอบ ส่วนการกระทำของกษัตริย์เป็นแต่เพียงในนามเท่านั้น และมีหลัก 6 ประการเป็นเป้าหมาย อันประกอบด้วย เอกราช, ความปลอดภัย, ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ, ความเสมอภาค, เสรีภาพ และการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น